วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550

เทคนิคการทำลูกนกเขาใหญ่เสียงดี




ทุกวันนี้เราเห็นผู้คนที่ต้องการเลี้ยงนกเขาใหญ่ มาเดินหาซื้อหรือสอบถามเรื่องการที่จะได้นกเขาใหญ่เสียงดีไปเลี้ยง.. นกเขาใหญ่จะไม่เหมือนนกเลี้ยงอื่นๆตรงที่มีผู้นิยมเล่นน้อย.. เป็นนกที่เล่นกันเฉพาะกลุ่มมีการเล่นหากัน
ด้วยการแลกเปลี่ยนสายพันธ์กัน การซื้อขายจะเป็นส่วนน้อย ดังนั้นการที่จะได้นกไปเลี้ยงจึงต้องอาศัยความใกล้ชิดสนิดสนม เรามาข้ามจุดนี้ไปเอาเป็นว่าหากเราสามารถที่จะหาพ่อแม่นกได้.. จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ เราก็ต้องมาคัดดูว่าเมื่อนกเข้าคู่แล้วจะดีหรือไม่.. ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร
การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะต้องคัดเลือกในเรื่องคุณสมบัติที่ดีของนกเขาใหญ่ คือ เสียงดีคารมหนา และถี่ สามประการนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนกเขาใหญ่คารม เคยมีผู้นำพ่อนกที่มีคุณสมบัติข้างต้นไม่ครบมาผสมกับแม่นกมีคุณสมบัติสมบูรณ์ หรือพ่อพันธุ์มีคุณสมบัติสมบูรณ์ แต่แม่พันธุ์ไม่ครบลูกนกที่ออกมาส่วนมากจะไม่ดี.. ฉะนั้นทางที่ดีการผสมพันธุ์จึงต้องเน้นคุณภาพทั้งพ่อและแม่พันธุ์
ก่อนอื่นเลยเราต้องทำการแนะนำนกที่จะมา เป็นคู่ผสมให้ความรู้จักมักคุ้นกันก่อน นกก็เหมือนคนก่อนจะแต่งงานกันก็ต้องมีความรักความชอบกันก่อน เราจะไม่นิยมวิธีคลุมถุงชน นกที่ไม่มีการเทียบให้รู้จักกันก่อนเอาเข้ากรงผสมเลยอาจเกิดโศกนาฎกรรมขึ้นได้ ฉะนั้นจะต้องนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เทียบไว้ใกล้ๆกันก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเอาตัวเมียใส่ไว้ในกรงที่ต้องการผสม(กรงใหญ่) ส่วนตัวผู้จะใส่กรงแขวนไว้ที่หน้ากรงใหญ่นั้น
จนนกทั้งสองเกิดความคุ้นเคยซึ่งกันและกันตัวผู้จะแสดงอาการเกี้ยวพาราสีหมอบขันด้วยกริยาขยับปปีกขยับหางตัวเมียจะทำขนพองและไซ้ปีกไซ้หาง อาการเช่นนี้หมายความว่านกทั้งสองเริ่มรักกันแล้ว หากเราสังเกตเห็นอาการที่ว่าก็ปล่อยพ่อนกลงกรงผสมได้ เมื่อปล่อยกรงผสมให้อยู่ด้วยกันแล้ว อย่าเพิ่งทิ้งนกไปไหนควรจะรอสังเกตดูว่านกทั้งสองจะตกลงกันหรือไม่เพราะนกบางคู่ดูเหมือนจะรักกันดีแต่พอปล่อยให้อยู่ด้วยกันกลับตีกันหากเราไม่อยู่บางทีมันอาจจะตีกันตายในเวลาที่ไม่นานนัก ฉะนั้นถาปล่อยลงไปแล้วนกตีกันก็ต้องรีบจับออกและนำไปเทียบต่อไปจนกว่านกทั้งสองจะอยู่ด้วยกันดีๆอีกวิธีหากไม่ต้องการจับออกก็ใช้วิธีเอาหนังยางที่เราใช้รัดของนั้นแหละมาตัดให้เป็นเส้น แล้วนำไปมัดขนปลายปีก7 เส้นของนกเพื่อใม่ให้นกตัวที่ตีบินได้ถนัด และมันก็จะกังวลกับปีไม่มีเวลาไปตีนกคู่ของมัน... ไม่นานมันก็รักกัน


นกเขาใหญ่จะออกไข่ครั้งละไม่เกิน2ฟองและกำหนดการฟักไข่ประมาณ 15 วัน เปลือกไข่จะตกจากรัง ซึ่งหมายความว่าลูกนกเป็นตัวออกจากไข่แล้วเมื่อเปลือกไข่ตกจากรัง ต้องเตรียมอาหารป่นไว้ให้ลูกนกกิน เช่น
ถั่วเขียวบด ปลายข้าวกล้อง ข้าวโพดป่น และข้าวมิลเลตผสมส่วนเท่าๆกันเพื่อช่วยการย่อยของพ่อแม่นกที่จะนำมาป้อนลูกอ่อน ปกติแล้วพ่อนกแม่นกลูกอ่อนจะกินอาหารจุ พอกินอาหารแล้วมันจะรีบกินน้ำ เก็บอาหารที่กินแล้ว
ประมาณครึ่งชั่วโมง อาหารจะย่อยโดยน้ำย่อยตามธรรมชาติ เราเรียกอาหารสำหรับลูกอ่อนที่พ่อแม่นกเตรียมให้ลูกนกว่า (น้ำนมนก) ที่จริงแล้วอาหารนี้จะย่อยไปประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ยังไม่สำเร็จรูปถึงขั้นไปเสริมสร้างร่างกาย
ของพ่อแม่นก วิธีการเลี้ยงลูกอ่อนนั้นพ่อนกแม่นกจะขยอกอาหารที่ผ่านการย่อยครึ่งกระบวนการนี้เข้าสู้ลำคอลูกนกจนอิ่ม จนลูกนกไม่ยอมรับอาหาร อาหารที่ เหลืออยู่ในกระเพาะพ่อนกแม่นกจะเป็นส่วนที่ไปเลี้ยงร่างกายพ่อแม่นกต่อไปลูกนกถ้าได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี จะเติบโตเร็วมากมีขนขึ้นเต็มตัว พออายุครบ 15 วัน ลูกนกก็สามารถก้าวขึ้นเกาะที่ขอบรังได้ ธรรมชาติจะสร้างสรรค์วิธีการให้ลูกนกต้องออกฝึกบิน โดยการให้พ่อแม่นกออกไปป้อนอาหารนอกรัง แรกๆลูกนกจะออกจากรัง แต่เมื่อลูกนกทนหิวไม่ไหวก็จะต้องบินไปหาพ่อแม่นก เพื่อขออาหารกินเป็นอยู่อย่างนี้จนกระทั่งอายุประมาณ 30 วัน จนสามารถกินเองได้ ช่วงนี้ต้องแยกออกจากพ่อแม่นกได้ เพราะแม่นกจะเริ่มไข่อีก แม่นกบางตัวก็จะไข่ก่อนกำหนดนี้ ลูกนกอาจไปรบกวนการฟักไข่ครอกใหม่ได้ บางครั้งแม่นกอาจจะทำร้ายลูกนกจนถึงตายได้


ลูกนกที่โตและกินอาหารได้เองแล้ว มีวิธีเลี้ยงต่อไปคือการเอาเข้าเลี้ยงในกรงรวมใหญ่ ซึ่งจะมีลูกนกอยู่รวมกันหลายตัวจนกระทั่งสร้อยขึ้นเต็ม การเลี้ยงในกรงใหญ่นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับร่างกายของลูกนก เพราะลูกนกจะได้บินออกกำลัง เลี้ยงในกรงรวมสักเดือนจึงแยกให้อยู่เดี่ยวกรงละตัว นกที่สร้อยคอขึ้นเต็มแล้วจะเริ่มขัน
เมื่อมีอายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไป เจ้าของจะรู้ถึงคุณภาพเสียงของนก การเลี้ยงโดยแยกลูกนกใส่กรงเล็กเป็นวิธีที่จะได้ฟังลูกนกขันในเวลาอันรวดเร็ว
เพียงเท่านี้เราก็จะได้ลูกนกไว้เชยชม ทีนี้มาดูว่าเราจะเลี้ยงนกเขาใหญ่ไว้เพื่ออะไร จะได้คัดนกถูก.. หากเลี้ยงไว้ฟังเล่นไม่ได้ซีเรียสอะไร ก็ให้เน้นน้ำเสียงนำมาก่อน คารมรองลงมา ความถี่เป็นที่ 3 ส่วนนกที่ต้องการเลี้ยงไว้เพื่อแข่งต้องเลือกนกที่ใจกล้าสามารถขันได้ทุกสถานที่มาเป็นอันดับ 1 ความถี่เป็นที่ 2 คารมเป็นที่ 3 เสียงดีเป็นที่ 4 คือ เสียงอย่าให้แหบเครือและต่ำลงเป็นใช้ได้ ฉะนั้นนกใจกล้าประกอบด้วยมีความถี่เป็นคุณสมบัติประจำตัว จึงอยู่ในเกณฑ์ที่เจ้าของจะเลี้ยงไว้ทดสอบคารมดูอย่างน้อย 2 ปี ถ้าพ้นเกณฑ์นี้ไปแล้วคารมมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง หากนกเขาขันเรียกหนุนไม่เข้าเกณฑ์นกรบ หากเรียก,คู หรือ เรียก,หนุน,คู มีคุณสมบัติความถี่ประจำตัวด้วยก็ใช้ได้การฝึกรบนกจะต้องทำเมื่อนกรุ่น ห้าวเต็มที่แล้วหากนกอายุน้อยกว่านี้นกจะไม่ขัน ซึ่งเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ การเลี้ยงนกรบย่อมแตกต่างกับจำพวกนกฟังเล่น นกฟังเล่นจะเลี้ยงหมู่หรือแยกไว้ให้ห่างกันก็ได้ส่วนนกรบจะต้องแยกให้ห่างกันมากที่สุดเท่าที่สถานที่จะอำนวย เพื่อทำให้นกรู้สึกเป็นเจ้าถิ่น เมื่อมีนกอีกตัวหนึ่งมาชวนวิวาท นกก็จะเกิดโมโหตะเบ็งขันด้วยความโกรธ ถ้านำนกรบมาเลี้ยงหมู่ นกก็จะคุ้นหน้ากันไม่มีการโต้คารม แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับนกบางตัวมีนิสัยมุทะลุดุดันนกชนิดนี้เป็นนกประเภทบ้าบิ่นจะเลี้ยงอย่างไรมันก็รบทั้งนั้น...

1 ความคิดเห็น:

msuriyon กล่าวว่า...

ผมรื้อตันไม้ บนกันสาด พบรังนกร่วงลงมา 2 ตัว ขนาดประมาณ 2 กอล์ฟ มีขนบ้างแล้ว เลยเอารังกลับไปไว้ที่เดิม ไม่รู้ว่า แม่นกจะกลับมาเลี้ยงหรือเปล่า กลัวจะไม่รอด